ท่ามกลางภูมิทัศน์การลงทุนโลกที่กำลังเผชิญความท้าทายจากความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ แบลร์ คูเปอร์, Investment Director, Developed Market Equities, Aberdeen กล่าวว่า กระแสเงินลงทุนที่เคยกระจุกอยู่ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปัจจุบันเริ่มไหลออกไปยังตลาดอื่นๆ มากขึ้น เช่น ยุโรป หรือตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market)
สังเกตได้จากความต้องการของลูกค้า โดยเฉพาะนักลงทุนสถาบันที่ขอให้บริษัทกระจายการลงทุนออกไปนอกสหรัฐฯ มากขึ้น
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดดเด่นมากในช่วงที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันเริ่มเห็นความเสี่ยงเรื่องของ Stagflation เพิ่มขึ้น หรือภาวะที่เศรษฐกิจเติบโตชะลอลง ขณะที่เงินเฟ้อยังสูง และที่สำคัญคือน้ำหนักของหุ้นสหรัฐฯ ต่อตลาดหุ้นทั่วโลกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากราว 40% มาเป็น 70% ในปัจจุบัน
โดยเฉพาะน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นจากหุ้น Magnificent 7 ได้แก่ Apple, Microsoft, Alphabet, Amazon, META, Tesla และ Nvidia ที่สัดส่วนมากถึง 20% ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ
“มูลค่าของหุ้นสหรัฐฯ อย่างดัชนี S&P 500 มี P/E เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 25 เท่า ทำให้โอกาสที่นักลงทุนจะได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับในอดีตเป็นไปได้ยากขึ้น” คูเปอร์กล่าว
คูเปอร์กล่าวต่อว่า ปัจจุบันเราปรับลดน้ำหนักของหุ้นสหรัฐฯ ลงเหลือประมาณ 50% ต่ำกว่า benchmark ประมาณ 16% คำถามสำคัญคือน้ำหนักที่ลดลงจากหุ้นสหรัฐฯ จะกระจายไปลงทุนในสินทรัพย์ใดแทนที่
ธีมหลักที่น่าจะให้ผลตอบแทนดีหลังจากนี้คือหุ้นที่หรือสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ ในภาวะที่ความไม่แน่นอนสูง หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญคือ global dynamic dividend เน้นการเก็บเกี่ยวเงินปันผล มีผลตอบแทนสม่ำเสมอ จะเป็นธีมที่ดีในอีก 3-6 เดือนข้างหน้า
นอกจากการหาผลตอบแทนสม่ำเสมอ คือการมองหาหุ้นคุณภาพ (Quality) แทนที่จะเป็นหุ้นที่ราคาถูก (Value) จะให้ผลตอบแทนที่ดีมากขึ้น ส่วนหุ้นสหรัฐฯ จะเน้นไปที่หุ้นขนาดกลางและเล็กมากขึ้น ล้อไปกับนโยบายของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นอกจากนี้คือการมองหาหุ้นที่สอดคล้องกับ 3 ธีมหลัก ได้แก่ การปฏิวัติพลังงาน (Energy Evolution), เทคโนโลยีใหม่ (Transformational Technology) รวมทั้งสุขภาพและโครงสร้างประชากร (Health Wealth & Demographics)
ในอีก 5 ปีข้างหน้า กองทุนที่บริหารเชิงรุก (Active Fund) อย่างแท้จริง และตลาดเกิดใหม่มีโอกาสที่จะสร้างผลตอบแทนที่โดดเด่นกว่าการลงทุนในกองทุนอิงดัชนี (Passive Fund) และตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่เคยเป็นผู้นำมาอย่างยาวนาน
คูเปอร์มองว่า แม้ในตลาดจะมีกองทุน Active จำนวนมาก แต่หลายกองทุนก็มีนโยบายการลงทุนที่ใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิง อย่างไรก็ตาม กองทุนที่เป็น Active อย่างแท้จริง ที่ไม่ยึดติดกับดัชนีอ้างอิง และมุ่งเน้นค้นหาบริษัทที่ดีที่สุด จะมีโอกาสที่ยอดเยี่ยมในการสร้างผลตอบแทนที่เหนือกว่า
แม้ผลการดำเนินงานในอดีตของหุ้นในตลาดเกิดใหม่อาจจะยังตามหลังหุ้นพัฒนาแล้ว (Developed Market) แต่เมื่อพิจารณาจากมูลค่าในปัจจุบัน ตลาดเกิดใหม่หลายแห่ง โดยเฉพาะบางตลาด เช่น อินเดียที่ยังคงแข็งแกร่ง มีโอกาสที่ดีกว่าในการสร้างผลตอบแทนที่น่าสนใจกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในช่วง 5 ปีข้างหน้า
“เป็นเวลากว่า 15 ปีแล้วที่นักลงทุนจำนวนมากคุ้นเคยกับการที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ทำผลงานได้โดดเด่นกว่าตลาดอื่น แต่ผมคิดว่ากำลังมีปัจจัยเชิงโครงสร้างหลายอย่างที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างเศรษฐกิจสหรัฐฯ เอง สถานะของเงินดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินสำรองของโลก หรือสถานะทางการคลังของสหรัฐฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้เกิดคำถามถึงความสามารถที่แนวโน้มเดิมๆ จะยังคงดำเนินต่อไปได้” คูเปอร์กล่าว
หุ้นไทยยังมีโอกาสหากมองข้ามไป 5 ปีข้างหน้า
ดรุณรัตน์ ภิยโยดิลกชัย, Head of Equities – Thailand, Aberdeen กล่าวว่า แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (GDP) ปีนี้น่าจะอยู่ที่ 1.5-2% ลดลงจากประมาณการเดิมที่ 2.7% จากผลของ Reciprocal Tariff ของสหรัฐฯ และการท่องเที่ยวที่เติบโตช้ากว่าที่คาด
ขณะที่ 3 เสาหลักของเศรษฐกิจไทยถูกกระทบพร้อมกัน ทั้งการส่งออกที่คิดเป็น 60% ของ GDP จะได้รับผลกระทบจากกำแพงภาษี ซึ่งน่าจะเห็นผลกระทบชัดเจนในครึ่งปีหลัง ขณะที่การท่องเที่ยวก็ชะลอตัว และการลงทุนต่างชาติที่บางส่วนอาจจะชะลอการตัดสินใจออกไป
อย่างไรก็ตาม นโยบายการคลังและการเงินยังพอสนับสนุนเศรษฐกิจได้ และคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะลดดอกเบี้ยอีกหนึ่งครั้งในปีนี้ไปเหลือ 1.5%
ส่วนกำไรของบริษัทจดทะเบียนตอนนี้ 90 บาทต่อหุ้น มีความเสี่ยงจะถูกปรับลดคาดการณ์ลงไปเหลือ 77-86 บาทต่อหุ้น ขึ้นอยู่กับระดับภาษีที่จะถูกเพิ่มขึ้นโดยสหรัฐฯ
หากประเมินในมุมบวก คือ ไทยถูกขึ้นภาษี 10% ตลาดหุ้นไทยน่าจะกลับไปซื้อขายที่ P/E 15 เท่า หากอิงจาก EPS ที่ 85 บาท จะเห็นดัชนีกลับไปที่ 1,300 จุด ในกรณีดีสุดคือ อาจเห็นดัชนีกลับไปซื้อขายที่ 16-17 เท่า ก็มีโอกาสจะเห็นดัชนี SET กลับไปที่ 1,400 จุด
ส่วนกรณีเลวร้ายคือ ไทยถูกขึ้นภาษี 36% มีความเสี่ยงที่หุ้นไทยจะลงไปซื้อขายที่ P/E 11 เท่า ทำให้ดัชนีมีความเสี่ยงจะลดลงไปได้ถึง 900-1,000 จุด
อย่างไรก็ตาม หากมองไปอีก 5 ปีข้างหน้า หุ้นไทยอยู่ในจุดที่ซื้อสะสมได้ เนื่องจากความเสี่ยงที่สะท้อนไปในราคาค่อนข้างมากแล้ว โดยเน้นเลือกหุ้นคุณภาพสูง งบดุลแข็งแกร่ง จ่ายปันผลต่อเนื่อง และมีนโยบายซื้อหุ้นคืน เช่น กลุ่มธนาคาร โรงไฟฟ้า สื่อสาร และเฮลท์แคร์
ภาพ: Michael M. Santiago / Getty Images